อาหารไทยในบาหลี


อาหารไทยในบาหลี

วันนี้ผมจะพาท่านไปเป็นพญาน้อยชมตลาดในบาหลีกันสักตั้ง เพื่อที่จะได้เห็นว่าในบาหลีมีอาหารไทยอะไรมาขายกันบ้าง พูดถึงอาหารไทยแล้วต้องกราบงามๆต่อบรรพบุรุษของเราหลายๆสิบครั้ง ที่คิดค้นการทำอาหารอันแสนอร่อยทิ้งไว้ให้เป็นมรดกตกทอดมาถึงรุ่นเรา ให้ผลิตขายกันไปทั้งโลก ทำให้คนไทยมากมายมีอาชีพมีงานทำ รวมทั้งสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยให้ดังกระฉ่อนไปทั้วโลก ซึ่งเรียกว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง อาหารอย่างต้มยำกุ้งของไทยที่ดังระเบิดเป็นอย่างแรก ตามมาด้วยไก่ต้มข่าที่ทำท่าจะดังแซงต้มยำกุ้งอยู่แล้ว หรืออย่างก๋วยเตี๋ยวผัดไทยที่ดังได้เพราะนักท่องเที่ยวที่มาพักอยู่แถบถนนข้าวสาร กินแล้วติดใจ จนต้องไปตามหากินจากร้านอาหารไทยในประเทศต่างๆทั่วโลก ทำให้ผัดไทยกลายเป็นอาหารจานเดียวที่มีคนสั่งมากที่สุดในร้านอาหารไทย แม้กระทั้งท่านอดีตประธานาธิบดี บิลล์ คลินตัน ของอเมริกา ก็ยังตกหลุมรักผัดไทยที่ ยายศรี ป้าแหล้ม แม่ละม้าย ฯลฯ บรรจงค้นคิดและรังสรรค์รสชาติไว้ จนต้องให้พ่อครัวประจำทำเนียบขาวทำให้กินแทบทุกอาทิตย์ นี่ก็จัดได้ว่าเป็นนวตกรรมอย่างหนึ่ง นวตกรรมนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นของไฮเท็คเท่านั้น การสร้างสรรอาหารแปลกๆ อร่อยๆก็เป็นนวตกรรมได้ อย่างน้ำพริกศรีราชาของไทยเราก็เป็นนวตกรรมทางอาหารที่โด่งดังมากอีกอย่างหนึ่ง

ตลาดที่ผมจะพาท่านไปชมคือห้างสรรพสินค้า “คาร์ฟูร์” ที่เป็นห้างที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดในบาหลี คาร์ฟูร์ที่นี้ไม่ได้ตั้งมาเพื่อขายสินค้าราคาต่ำกว่าร้านโชห่วยอย่างในบ้านเรา แต่คาร์ฟูร์ที่นี้ขายของคุณภาพสูง ของอิมพอตร์ และราคาสูงกว่าร้านอื่นๆทั่วๆไป สินค้าที่นี้มีมาจากทั่วโลก มาเดินที่นี้แล้วมีความภูมิใจในความเป็นคนไทย เพราะจะเห็นสินค้าจากเมืองไทยเต็มไปหมด นอกจากเรื่องอาหารแล้ว ยังมีเครื่องสำอางค์อีกหลายชนิด ที่ผลิตจากเมืองไทย และที่โด่งดังที่สุดตอนนี้คือ กระทิงแดง เครื่องดื่มชูกำลัง สินค้าตัวนี้กำลังดังไปทั่วโลกเช่นกัน ไม่ว่าในเอเชีย ยุโรป หรือแม้กระทั้งในอเมริกา “เรดบุล” กำลังลุยแหลก

แต่ก่อนนี้ประมาณ ๕๐-๖๐ ปีมาแล้ว เวลาที่เราพูดถึงอาหารจากเมืองไทย ข้าวไทยจะมาเป็นอันดับแรก ในปัจจุบันข้าวไทยก็ยังเป็นที่นิยมและมีราคาสูงกว่าข้าวชนิดอื่นๆ ที่นี้ถุงบรรจุข้าวสารไทย จะพิมพ์ข้อความชัดเจนเลยว่า “บางกอก ไรซ” ดูรูปแรกข้างล่าง

แต่ที่ดังมากในสมัยนี้ได้แก่ ต้มยำกุ้ง และน้ำพริกเครื่องแกงชนิดต่างๆที่มีวางขายเต็มไปหมดทั้งๆที่นี้มีคนไทยอยู่ไม่มากนัก แสดงว่าผู้ซื้อคืชางต่างชาติเป็นหลักและสินค้าจากไทยที่คาดไม่ถึงว่าจะดังก็คือ แป้งทอดกรอบ สำหรับทำเท็มปุระ โปรดดูรูปด้านล่าง

แบบแป้งโกกิ (ซึ่งก็เป็นของคนไทย แต่ตั้งชื่อให้ฟังคล้ายของญี่ปุ่น) หรือต้มยำที่รสชาติดังกระฉ่อนโลก แม้กระทั่งบะหมี่ถ้วยที่ทำมาขาย ยังเขียนชัดเจนว่า “ไทย ต้มยำ” ราคาที่วางขายก็ประมาณ ๘๕ บาทเท่านั้นเอง (ดูรูปถัดไป)

นอกจากน้ำพริกแกงแล้วสินค้าที่โด่งดังมากอีกกลุ่มก็คือ พวกผลไม้กระป๋องจากเมืองไทยชนิดต่างๆเช่น เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย เป็นต้น แต่แปลกมากที่ไม่มีหน่อไม้ไผ่ตงกระป๋องจากเมืองไทย กลับไปมีหน่อไม้กระป๋องจากจีน ผมเลยถ่ายรูปมาให้ดูกันว่าราคาคิดเป็นเงินไทยแล้วแทบกินไม่ลง

สินค้าอีกพวกที่มีผู้นิยมมากคือพวกซอ๊สปรุงรส และสินค้าที่ขึ้นชื่อที่สุดในกลุมนี้คือ น้ำปลา เป็นเรื่องที่แปลกจริงๆว่าการทำน้ำปลานั้นคนไทยทำได้อร่อยที่สุด คนเวียตนามและคนฟิลิปปินส์ มีการทำน้ำปลาอยู่บ้างแต่รสชาติไม่ต่างจากกินน้ำเกลือ แม้กระทั่งชาวเวียตนามและชาวฟิลิปปินส์ที่อยู่ตามต่างประเทศหลายสิบล้านคนยังหันมาซื้อของไทย ที่นี้มีวางขายอยู่หลายยี่ห้อ จะมียี่ห้อไหนบ้างดูรูปเอาเองครับ

ผมเคยแอบได้ยินแม่บ้านชาวต่างชาติกระซิบบอกเคล็ดลับในการทำอาหารไทยให้อร่อยว่าต้องใส่น้ำปลาไม่ใช่ใส่เกลือ แต่เมื่อคำนวนราคาเป็นเงินไทยแล้ว ผมก็เลยใส่น้ำปลาครึ่งเกลือครึ่งแต่ความอร่อยก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด นอกจากน้ำปลาแล้ว ซ๊อสอื่นๆก็ได้รับความนิยมมากเช่นกัน โดยเฉพาะน้ำจิ้มไก่ย่างชนิดหวาน จนมีคนที่นี้ทำเรียนแบบ แต่ต้องชมเชยเค้าที่ตั้งชื่ออย่างเปิดเผยว่า “ซัมเบา-บางกอก”

คำว่า “ซัมเบา” เป็นภาษาอินโดแปลว่า ซ๊อสพริก ผสมคำแล้วแปลว่า ซ๊อสพริกกรุงเทพ แต่ไม่รู้ว่าอร่อยแค่ไหน ไม่เคยซื้อมาลองชิม

พูดถึงน้ำปลาแล้วอยากจะเล่าเรื่องกะปิให้ฟังว่าคนไทยเราเก่งแค่ไหน เท่าที่ผมเห็นมามีอยู่สองชาติในเอเชียที่ทำกะปิเป็น คือไทยกับฟิลิปปินส์ กะปิของไทยนั้นจะมีเนื้อที่เนียนและละเอียด มองดูไม่เห็นตัวเคยที่เอามาทำกะปิ และที่สำคัญกลิ่นจะหอมมาก ยิ่งเวลาห่อใบตองย่างไฟแล้วยิ่งหอมใหญ่ ถ้าย่างในคอนโดที่ต่างประเทศแล้วละก็ฝรั่งจะวิ่งมาเคาะประตู ถามว่า “อะไรไหม้ในครัวหรือ?” แต่กะปิของฟิลิปปินส์นั้นยังมองเห็นชิ้นส่วนของตัวเคย โดยเฉพาะส่วนหัวและลูกตา และกลิ่นไม่ชวนรัปประทาน นี่ก็ฝีมือของบรรพบุรุษของเราอีกเช่นกัน

จากสินค้าของแห้งแล้ว ต่อไปก็เป็นสินค้าของสดซึ่งได้แก่พวกผลไม้ต่างๆ เป็นที่แน่นอน เมื่อพูดถึงผลไม้ไทยที่ขึ้นชื่อเป็นอันดับหนึ่ง ก็ได้แก่ทุเรียนหมอนทอง หมอนทองเท่านั้น ที่นี่ก็มีทุเรียนเหมือนกันแต่เป็นพันธุ์พื้นเมือง แต่ได้แค่วางขายข้างถนน ไม่มีสิทธิ์ขึ้นห้างครับ ที่นี่หมอนทองวางเด่นเป็นสง่าพร้อมติดป้ายชัดเจน “ทุเรียนบางกอก” โปรดดูรูป พร้อมระบุราคาขายที่เห็นในป้าย ๒,๖๒๕ รูเปียต่อ ๑๐๐ กรัม

หรือ ๒๖,๒๕๐ รูเปียต่อกิโลกรัม คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ ๑๓๐ บาทต่อกิโลเท่านั้น คนที่นี่นิยมกินทุเรียนของไทยมาก เลยไม่เกี่ยงเรื่องราคา นอกจากทุเรียนแล้วผลไม้สดที่นำเข้ามาจากไทยก็มี ลำไย และมะขามหวาน

วางโชว์กระทบไหล่กับสตอร์เบอรี่และอินทผาลัมจากตะวันออกกลาง แต่มีผลไม้ไทยอีกอย่างที่ผมแทบไม่เชื่อว่าจะมีคนที่นี้จะนิยมกิน ผลไม้ที่ว่านั้นคือ ฝรั่งแช่บ๊วย

ขึ้นป้ายไว้ชัดเจนว่า “จัมบู บางกอก” จัมบูแปลว่าฝรั่ง ผสมคำแล้วได้ความว่า ฝรั่งบางกอก

เป็นอย่างไรครับไปเที่ยวชมตลาดในบาหลีกันแล้วเห็นช่องทางทำมาหากินอะไรกันบ้างหรือยัง? ผมมองเห็นสินค้าจากบ้านเราวางขายเต็มไปหมดทีไร ผมมีความภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทยทุกที ภูมิใจที่เรามีฝีมือในการผลิตอาหารการกินที่อร่อยจนเป็นที่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็น บางกอกไรซ ทุเรียนบางกอก ซัมเบาบางกอก หรือ ไทยต้มยำ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นฝีมือของบรรพบุรุษของเราทั้งนั้นที่สร้างมรดกไว้ให้ ผมเคยได้รับข้อสังเกตุจากคนต่างชาติครั้งหนึ่งที่ทำให้อึ่งไปเลย แทบจะไม่อยากบอกใครต่อไปอีกว่าเป็นคนไทย คนต่างชาติท่านนั้นบอกว่า

“ประเทศไทยนั้นอะไรๆก็ดีหมด เสียอยู่อย่างเดียวที่มีแต่นักการเมืองที่เลวๆ”

!!??!!

6 thoughts on “อาหารไทยในบาหลี

  1. เรียนท่านเจ้าของเวปไซค์
    ดิฉันมีแผนจะไปเที่ยวบาหลี 11-15 เมษายน 2552 ไปเดี่ยว วางแผนพักที่อูบุด ออกเที่ยว แล้วกลับมาพักที่อูบุด ต้องการเช่ามอไซค์เที่ยว ต้องการขี่ดูให้รอบเกาะในวันแรก แล้วเจาะละเอียดในวันต่อมา จะพอเป็นไปได้ใหม แล้วการที่ใช้อูบุดเป็นจุดศูนย์กลาง จะมีปัญหาใหมคะ จองโฮมสเตย์ทางอินเตอร์เนตไปแล้ว แต่ยังไม่ได้จ่ายมัดจำ

    ต้องการคำแนะนำมากมายค่ะ ถ้าเป็นไปได้

    ขอบพระคุณมากมายค่ะ

    นางนงลักษณ์ อุทัย

    ถูกใจ

    1. สวัสดีคุณนงลักษณ์,

      ไปเกาะบาหลีช่วงเมษานั้นเป็นเวลาที่อากาศไม่ร้อนจัด ไม่มีฝนแล้วเหมาะกับการขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยว แต่ขอเตือนคุณไว้ก่อนว่า การจะขี่มอเตอร์ไซค์ที่บาหลีนั้น คุณต้องขี่รถแข็งมากๆๆ เพราะการจะขี่รอบเกาะนั้นจะเป็นการขี่ขึ้นเขาลงเขาเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับการจราจรที่นี่ไม่มีระเบียบวินัยใดๆทั้งสิ้น

      อันดับต่อไปคือถนนที่นี่จะแคบมากๆ ต้องระวังอุบัติเหตุให้ดี ที่นี่คนพูดภาษาอังกฤษเป็นมีน้อย การที่คุณจะลุยเดี่ยวจะมีปัญหาในการอ่านแผนที่ อ่านป้ายบอกทาง ถามทางเมื่อหลงทาง ซึ้อหาอาหารกินเพราะร้านอาหารตามริมทางนั้น ต้องเลือกร้านอย่างดี มิฉะนั้นคุณอาจจะป่วยได้ เพราะที่นั้นจะเต็มไปด้วยโรคไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ โรคบิด ไวรัสตับอักเสบ ถ้าจะไปลุยจริงๆผมขอแนะนำดังนี้
      ๑) ฉีดยาวัคซีนไทฟอยด์
      ๒) ทำใบขับขี่สากล เพราะที่นั้นตำรวจมีไว้จับนักท่องเที่ยวเพื่อรีดไถ พอรู้ว่าเป็นนักท่องเที่ยวจะขอตรวจใบขับขี่ทันที
      ๓) การขี่รถมอเตอร์ไซค์ต้องใส่หมวกกันน็อคตลอด
      ๔) การจะขี่รถเที่ยวรอบเกาะต้องใช้เวลาอย่างน้อยสอง-สามวัน เพราะขนาดขับรถยนตร์ยังต้องใช้สองวันเป็นอย่างน้อย รวมทั้งคุณต้องเตรียมสเบียงไปด้วยตลอด
      ๕) ถ้าคุณชอบชีวิตแบบธรรมซาติๆการพักที่อูบุตนั้นจะเหมาะ เพราะอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณชั่วโมงครึ่ง และอยู่เกือบๆกลางเกาะ จะสะดวกในการขี่รถไปตามที่ต่างๆ แต่ขอบอกว่าผมไม่แนะนำให้ขี่รถไปคนเดียว
      ถ้าอยากทราบข้อมูลเมืองอูบุด ให้เข้าไปอ่านเรื่อง บาหลี-บาหลู๔

      ถูกใจ

  2. ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ สำหรับคำแนะนำที่กระจ่างชัด แต่ไม่ไปคนเดียว คงไม่ได้แล้วค่ะ ไม่ได้ชวนใครเลย ขี่รถแข็งพอได้ค่ะ แต่ฟังแล้วโปรแกรมขี่รอบเกาะในวันแรกคงยากแล้ว คงเจาะละเอียด รอบๆอูบุด โดยใช้อูบุดเป็นจุดศูนย์กลาง กลับไปพักที่นั่น เพราะขับมอไซค์โดยแบกเป้ด้วยคงไม่สะดวกจริงๆค่ะ

    ใบขับขี่สากลทำแล้วค่ะ ของมอไซค์ แต่รถยนต์ไม่ได้ทำ จะขี่ช้าๆค่ะ

    อีกคำถามค่ะ ดิฉันไปโดยแอร์เอเชีย จะถึงสนามบินเดนปราซ่าประมาณ เที่ยงวันที่ 11 ถ้าจะเดินทางไปอูบุดโดยรถประจำทาง พอจะเป็นไปได้ใหมคะ ไม่อยากนั่งแท๊กซี่ เราจะขึ้นรถบริเวณไหนของสนามบินคะ

    แล้วจะเข้ามารบกวนถามอีกนะคะ ขอบพระคุณค่ะ

    ถูกใจ

การแสดงความเห็นถูกปิด